วิธีการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ บนหลังคาเมทัลชีท
ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าพลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ต้องแลกไปเพื่อความสะดวกสบายของเราแต่คงจะดีกว่าหากบ้านหรืออาคารของเราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง ด้วยการใช้แผงโซลาร์เซลล์ หรือหากอาคารของคุณเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การติดโซลาร์เซลล์ก็ถือเป็นการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว อีกทั้งได้มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในส่วนงานที่พักอาศัย งานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME) เรื่อยไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม
หลังคาเมทัลชีท ตอบโจทย์การติดตั้งโซล่าเซลล์
การติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ จะต้องดำเนินการติดตั้ง หลังจากติดตั้งหลังคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะต้องทำการเจาะหลังคาเพื่อยึดอุปกรณ์ของแผงโซล่าเซลล์ กับโครงสร้างหลังคา ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการรั่วซึมได้หากไม่ได้รับการติดตั้งอย่างถูกวิธี โดยช่างผู้ชำนาญการ ทั้งนี้หากคุณใช้หลังคาเมทัลชีท บางรูปลอน ได้ถูกออกแบบ ให้สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ โดยใช้อุปกรณ์จับยึด (connector) กับลอนหลังคาได้ โดยไม่ต้องทำการเจาะหลังคา ซึ่งจะลดโอกาสที่น้ำจะรั่วซึมเมื่อเกิดฝนตกได้
วันนี้เรามีข้อแนะนำและข้อควรระวัง 10 ประการ สำหรับการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนหลังคาเมทัลชีท เพื่อลดโอกาสการเกิดการกัดกร่อนและเพื่อให้หลังคามีอายุการใช้งานได้ตามปกติ
10 ข้อปฏิบัติและข้อควรระวังในการติดตั้ง
- ช่องว่างระหว่างสันลอนหลังคาถึงระบบแผงโซล่าเซลล์ ควรมีความห่างมากกว่า 7.5 เซนติเมตร เพื่อลดการสะสมของใบไม้หรือสิ่งต่างๆ ที่จะมาติดอยู่ด้านล่างของแผงโซล่าเซลล์ รวมถึงเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านหลังคาเมทัลชีทได้ เวลาฝนตกหรือระหว่างการล้างทำความสะอาด และลดโอกาสในการที่ลมจะพัดสอดเข้าใต้แผงโซล่าเซลล์แล้วทำให้แผงหลุดออกจากหลังคาและเกิดความเสียหายได้
ระยะการติดตั้งที่เหมาะสมควรมีความห่างมากกว่า 7.5 เซนติเมตร
- ไม่แนะนำให้ติดแผงโซล่าเซลล์ เต็มพื้นที่ของแผ่นหลังคาเมทัลชีท เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ปิดที่อาจเกิดการสะสมของฝุ่น และสิ่งสกปรกใต้แผงโซล่าเซลล์
- หลีกเลี่ยงการเดินเหยียบบนสันลอนหลังคาจนทำให้เกิดการหักยุบ การลากอุปกรณ์ต่างๆ บนแผ่นเมทัลชีท รวมไปถึงทำให้เกิดรอยขีดข่วนบนแผ่นเมทัลชีท เพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวหลังคา
- อุปกรณ์ยึด น๊อตสกรูต้องมีคุณสมบัติตาม AS3566 Class 3 เป็นอย่างน้อย และข้อต่อทั้งหมดที่ใช้ในการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ ควรผลิตขึ้นจากโลหะที่มีความเหมาะสม เช่น ทำจากเหล็กเคลือบซิงค์ หรือ เหล็กเคลือบอลูซิงค์ อลูมิเนียม เป็นต้น เพื่อให้มีอายุการใช้งานเทียบเท่ากับแผ่นหลังคาเมทัลชีท และสามารถใช้ร่วมกับระบบแผงโซล่าเซลล์ได้
ควรใช้สกรูเจาะยึดประเภท Class 3 ขึ้นไป
- ในระหว่างการติดตั้งแผง PV หรืออุปกรณ์เสริม ควรกำจัดเศษโลหะออกทุกวัน และควรล้างทำความสะอาดหลังคา หลังติดตั้งแผงโซล่าเซลล์แล้วเสร็จ เพราะจะช่วยลดโอกาสการเกิดสนิมจุด บนแผ่นเมทัลชีทได้
- การติดตั้งสายไฟ ควรวางอยู่ในรางอุปกรณ์สำหรับวางสายไฟ และควรติดตั้งไว้กับโครงสร้างของระบบแผงโซล่าเซลล์เพื่อความเรียบร้อย และป้องกันสายไฟชำรุดจากความร้อนของหลังคาและป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรหากสายไฟชำรุด
จัดเก็บสายไฟอยู่ในรางอุปกรณ์ที่ยึดติดกับโครงสร้างแผงโซล่าเซลล์
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการติดตั้งสายดินของระบบแผงโซล่าเซลล์อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบแผงโซล่าเซลล์ สายดินมีฉนวนหุ้มหรือร้อยผ่านท่อเดินสายไฟและวางอยู่ในรางอุปกรณ์สำหรับวางสายไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อแผ่นหลังคาเมทัลชีทด้วย
- หากพบว่าแผ่นเมทัลชีท ได้รับความเสียหายและอาจส่งผลให้เกิดการรั่วซึมได้หากฝนตก ควรได้รับการเปลี่ยนแผ่น/หรือซ่อมบำรุงให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
- ซิลิโคน แนะนำให้ใช้ชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นกลางเท่านั้น โดยสามารถสังเกตหาสัญลักษณ์ Neutral curing sealant บนฉลากผลิตภัณฑ์ซิลิโคน
เลือกใช้ซิลิโคนประเภทที่เป็น Neutral curing sealant
- แผงโซล่าเซลล์ และแผ่นหลังคาเมทัลชีทควรได้รับการบำรุงรักษา ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า ทุกๆ 6 เดือน และหากพบว่า น๊อตสกรูหรืออุปกรณ์จับยึด ได้รับความเสียหาย ควรดำเนินการซ่อมแซมทันที
หากสามารถปฎิบัติตามข้อแนะนำ ข้อควรปฎิบัติ และข้อควรระวังทั้ง 10 ประการนี้ได้ จะมั่นใจได้ว่า แผ่นหลังคาเมทัลชีทที่ติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานได้ตามปรกติอย่างแน่นอน