ผนังเมทัลชีท

เผยเทคนิคการทำผนังบ้าน ด้วยวัสดุเมทัลชีท

ด้วยจุดเด่นของวัสดุเมทัลชีท ที่สามารถดำเนินงานก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ให้รูปทรงบ้านที่ดูโมเดิร์นทันสมัย ส่งผลให้ความนิยมในการใช้หลังคาเมทัลชีทในประเทศไทยมีมากขึ้น แต่ไม่เพียงแค่หลังคาเท่านั้นครับ เมทัลชีทยังสามารถนำไปใช้งานได้สารพัดประโยชน์ และหนึ่งในไอเดียที่เหล่าสถาปนิกนักออกแบบทั้งไทยและเทศนิยมกันมาก คือ การนำเมทัลชีทมาใช้ร่วมกับงานกรุตกแต่งผนังบ้าน ส่งผลให้บ้านของเราดูสวย ทันสมัย และมีความเท่ที่แตกต่างไปจากบ้านทั่วไป เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” นำเกล็ดความรู้ในการนำเมทัลชีทใช้ร่วมกับงานผนังมาฝากครับ

6 ข้อดี นำเมทัลชีทใช้งานร่วมกับผนังบ้าน

ผนังเมทัลชีท

บ้านผนังเมทัลชีท ภายในใช้ผนังโฟม EPS ออกแบบโดย | Like Design Studio

1. งานเสร็จไว

โดยเฉพาะการใช้งานร่วมกับผนังเบา โดยปกติผนังเบาจะเสร็จไวกว่าการก่ออิฐฉาบปูนครับ และเมื่อใช้งานร่วมกับแผ่นเมทัลชีท ซึ่งเป็นวัสดุลักษณะสำเร็จรูป มีการทำสีมาให้เสร็จพร้อมใช้งาน จึงช่วยลดทั้งกระบวนการก่ออิฐ ฉาบปูนและทาสีบ้าน จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในอาคารประเภทสำนักงาน โรงงาน ร้านค้า ร้านอาหาร เพราะความไวในงานก่อสร้าง ย่อมหมายถึงการคืนทุน คืนกำไรได้อย่างรวดเร็ว

2. ลดภาระโครงสร้างบ้าน

เนื่องด้วยน้ำหนักของเมทัลชีทที่มีความเบากว่าวัสดุกรุผนังอื่น ๆ จึงทำให้โครงสร้างอาคารไม่จำเป็นต้องออกแบบให้รับน้ำหนักเยอะ โดยเฉพาะงานรีโนเวทต่อเติมที่จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่การใช้งาน หากเป็นวัสดุอื่น ๆ โครงสร้างอาคารเดิมอาจไม่รองรับ การเลือกใช้วัสดุเบาจึงลดต้นทุนไปได้มาก

3. ให้ความเท่ สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

เพราะอาคารที่สวยสะดุดตา มีผลกระทบต่อผู้เป็นเจ้าของอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาคารเชิงพาณิชย์ ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร สำนักงาน ความโดดเด่นเชิงสถาปัตยกรรมจะช่วยเชื้อเชิญให้ผู้ผ่านไปมาสนใจหันมอง เป็นเสมือนการต้อนรับให้มาเยี่ยมเยือน ซึ่งอาจหมายถึงยอดกำไรในการค้าขายที่เพิ่มมากขึ้นครับ

ผนังเมทัลชีท

ออกแบบ | Artisans Group

4. ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา

กรณีเลือกใช้วัสดุกรุผนังชนิดอื่น ๆ หรือฉาบปูนทาสี เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง สีของวัสดุจะซีดจางหมดอายุการใช้งาน หรือหากเป็นงานไม้ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาผุกร่อน ปลวกกิน ส่วนผนังเมทัลชีทโดยเฉพาะเมทัลชีทแบรนด์ BlueScope ZACS ซึ่งผ่านกระบวนการเคลือบสีหลายขั้นตอน รวมถึงการรับประกันเรื่องสีไม่ซีดจางอีก 8 ปี ช่วยให้ผนังทำหน้าที่สะท้อนความร้อน สีผนังบ้านจึงสวย ดูใหม่อยู่เสมอ

5. นำกลับไปใช้ใหม่ได้

ในกรณีที่ต้องการปรับปรุงบ้านหรือมีการเปลี่ยนแปลงอาคารภายหลัง วัสดุเมทัลชีทสามารถถอดเพื่อนำไปใช้กับสถานที่อื่น ๆ ได้ จึงช่วยประหยัดต้นทุนในกรณีต้องการปรับปรุงเพิ่มภายหลังได้ดี แตกต่างกับวัสดุกรุประเภทอิฐ หิน เซรามิก ที่สร้างไปแล้วไม่อาจนำกลับไปใช้ใหม่ได้ จำเป็นต้องทุบทิ้งเพียงอย่างเดียว

6. ปกปิดงานระบบ

ผนังเมทัลชีทเป็นส่วนปกปิดภายนอก เสมือนเสื้อคลุมให้บ้านอีกชั้น จึงสามารถปิดครอบงานระบบต่าง ๆ ไว้ได้ครับ ทั้งงานท่อประปา ท่อแอร์ สายไฟ ช่วยให้ผนังบ้านเรียบเนียน ไม่จำเป็นต้องมีท่อจากงานระบบให้ดูรกสายตา

เผยเทคนิคการทำผนังบ้าน ด้วยเมทัลชีท | NS BlueScope Thailand

ออกแบบโดย | Like Design Studio

ข้อเสียหละ ?

1. ข้อเสียลำดับแรกของผนังเมทัลชีทคือเรื่องความร้อนครับ เนื่องด้วยวัสดุโลหะมีคุณสมบัตินำความร้อนได้ดี ผนังบ้านที่กรุด้วยเมทัลชีทจึงควรติดตั้งฉนวนกันร้อนเพิ่มเติมเช่นเดียวกับงานหลังคา และควรเลือกเมทัลชีทที่ผ่านกระบวนการเคลือบสีสะท้อนความร้อนหรือเลือกใช้ผนังโฟม EPS ซึ่งจะมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันร้อนโดยเฉพาะจะสามารถแก้จุดอ่อนของเมทัลชีทได้
แต่ในข้อเสียด้านความร้อนนั้น เมทัลชีทได้แอบซ่อนข้อดีเช่นกันครับ โดยวัสดุประเภทโลหะจะไม่สะสมและอมความร้อน หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน ความร้อนจะลดลงอย่างรวดเร็ว แตกต่างกับผนังก่ออิฐที่มีคุณสมบัติอมความร้อน หลังพระอาทิตย์ตกดินความร้อนที่สะสมจะค่อย ๆ คายตัวออกมา ส่งผลให้ภายในบ้านอบอ้าว ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่สบายตัว

2. นอกจากความร้อนแล้ว หากต้องการใช้เมทัลชีทร่วมกับผนังบ้านปริมาณมาก อาจส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะการนำมาใช้ร่วมกับผนังก่ออิฐ ย่อมส่งผลให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้นมากกว่าปกติ การนำเมทัลชีทมาใช้ในงานตกแต่งผนังจึงเหมาะกับการเลือกตกแต่งเพียงบางจุด หรือกรณีใช้ทั้งหลังควรเลือกผนังเบาจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ครับ

ผนังเมทัลชีท

ออกแบบ | Prebuilt

เมทัลชีท ใช้งานร่วมกับผนังชนิดใดได้บ้าง

การตกแต่งผนังบ้านด้วยวัสดุเมทัลชีท สามารถนำมาใช้ร่วมกับวัสดุผนังได้ทุกประเภทครับ กรณีนำมาตกแต่งเพิ่มภายหลังสามารถติดตั้งเพิ่มได้ทันที แต่หากเป็นบ้านสร้างใหม่ ควรให้สถาปนิกวางแผนเลือกใช้วัสดุผนังตั้งแต่กระบวนการออกแบบ เพื่อเลือกใช้ผนังกรุเมทัลชีทได้อย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านโครงสร้างและความสวยงาม มิเช่นนั้นอาจส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นได้

กรุเมทัลชีท ร่วมกับผนังเบา - เผยเทคนิคการทำผนังบ้าน ด้วยเมทัลชีท | NS BlueScope Thailand

กรุเมทัลชีท ร่วมกับผนังเบา

ผนังเบา เป็นรูปแบบผนังบ้านที่ได้รับความนิยมสูงมากในต่างประเทศ หากใครเคยดูสารคดีงานก่อสร้างจะเห็นได้ว่า บ้านส่วนใหญ่เลือกใช้ผนังเบาทำหน้าที่แทนผนังก่ออิฐทั่วไป โดยวัสดุผนังเบาเป็นลักษณะแผ่นยิปซัมหรือแผ่นสมาร์ทบอร์ด กรณีใช้แผ่นยิปซั่มจะมีข้อดีตรงที่สามารถฉาบเรียบภายในได้ ผนังภายในจะดูเรียบเนียนกว่าการก่ออิฐทั่วไปและเรียบเนียนกว่าสมาร์ทบอร์ด

โดยแผ่นยิปซั่มควรมีความหนาประมาณ 9 มิลลิเมตรขึ้นไป ขึ้นโครงคร่าวด้วยโครงกัลวาไนซ์ C-Line ส่วนผนังฝั่งภายนอกสามารถกรุด้วยเมทัลชีทได้เลย แต่แนะนำว่าควรมีฉนวนกันร้อนไว้อีกชั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกันร้อนได้ดีครับ

กรุเมทัลชีท ร่วมกับผนังโฟม EPS

2 ปีก่อน บ้านไอเดียเคยทำ Content บ้านโฟม EPS ซึ่งเป็นผนังบ้านกึ่งสำเร็จรูปที่มีจุดเด่นเรื่องความเย็น ใช้แทนผนังก่ออิฐได้เป็นอย่างดี มีความคงทนแข็งแรงและกันไฟไหม้ได้ โดยโฟมที่ใช้เป็นโฟม EPS ขนาด 3 นิ้ว และด้วยขนาดของโฟมที่มีแผ่นใหญ่ จึงทำให้การติดตั้งรวดเร็วขึ้น ช่วยให้กระบวนการก่อสร้างบ้านเป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถนำมากรุร่วมกับเมทัลชีทได้อย่างลงตัว ในมุมมองของผู้เขียนเองคิดว่า ผนังโฟม EPS มีความเหมาะสมมากที่สุดในการใช้งานร่วมกับการกรุเมทัลชีท เนื่องด้วยโฟม EPS มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันร้อน จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งฉนวนเพิ่ม แต่ปัจจุบันผนังโฟมยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก จึงยังมีต้นทุนก่อสร้างค่อนข้างสูงและหาช่างติดตั้งยากกว่าผนังทั่วไป

กรุเมทัลชีท ร่วมกับผนังก่ออิฐ - เผยเทคนิคการทำผนังบ้าน ด้วยเมทัลชีท | NS BlueScope Thailand

กรุเมทัลชีท ร่วมกับผนังก่ออิฐ

ข้อดีของผนังอิฐ คือ ความคงทน หาช่างติดตั้งได้ง่ายและสามารถหาซื้อวัสดุได้ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เหมาะกับบ้านที่ก่อสร้างไว้เดิมแล้วและต้องการปรับปรุงใหม่ ผู้อ่านอาจเลือกผนังส่วนใดส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างจุดเด่นให้กับบ้านได้ แต่หากเป็นบ้านสร้างใหม่ควรวางแผนงานผนังให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้งบประมาณบานปลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถาปนิกจำนวนมากที่เลือกก่อผนังอิฐและกรุทับด้วยเมทัลชีท เพราะมั่นใจในความแข็งแรงทนทานของผนังมากกว่าผนังชนิดอื่น ๆ ซึ่งหากการก่อสร้างไม่ได้จำกัดงบประมาณ ก็สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับบ้านด้วยผนังอิฐได้เช่นกันครับ

กรุเมทัลชีท ร่วมกับผนังไม้อัด

นับเป็นวิธีการคลาสสิก ดั้งเดิม และยังคงนิยมใช้กันมาถึงยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะทางยุโรปจะนิยมใช้ผนังไม้อัดมาก โดยหลักการของผนังไม้อัดจะใกล้เคียงกับผนังเบาครับ แต่จะมีความสะดวกตรงที่โครงผนังสามารถใช้ไม้ทำทั้งหมดได้ วัสดุหาง่าย ช่างไม้ท้องถิ่นทั่วไปจึงทำงานได้อย่างสะดวก กรณีต้องการติดตั้งฉนวนกันร้อน สามารถติดตั้งฝังในผนังได้เช่นเดียวกับผนังยิปซัมครับ

Tip : นอกจากความสวยเท่แล้ว ลายเส้นของเมทัลชีทยังช่วยให้อาคารเกิดสมดุลได้อีกด้วย เช่น กรณีอาคารรูปทรงกว้าง ดูต่ำ เหมาะกับวางเมทัลชีทตามแนวตั้ง เพื่อให้อาคารดูสูงขึ้น ไม่แบนยาวเกินไป ในทางกลับกัน หากพื้นที่ผนังดังกล่าวดูสูง การวางลายเมทัลชีทตามแนวนอน จะช่วยให้อาคารดูต่ำลง หลักการนี้เป็นวิธีเดียวกับการเลือกเสื้อผ้า คนอ้วนไม่ควรใส่เสื้อลายขวาง และคนผอมสูงไม่ควรใส่เสื้อลายตั้งครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.banidea.com/metal-sheet-wall-design/