5 คุณสมบัติที่พบได้ เมื่อเลือกใช้หลังคาเมทัลชีท
ความลังเลใจในการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างแต่ละชนิด ล้วนเกิดขึ้นกับว่าที่เจ้าของบ้านทุกคน สิ่งนี้เป็นความปกติธรรมดาครับ ผู้เขียนเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อต้องเลือกสรรวัสดุแต่ละชิ้น จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียและราคา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาประเมินดูว่าวัสดุใดจะเหมาะกับบ้าน เหมาะกับความต้องการและตรงกับงบประมาณของเรามากที่สุด ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกันครับ ไม่มีวัสดุใดที่จะดีครบสมบูรณ์ 100%
อย่างวัสดุเมทัลชีทที่กำลังเป็นที่นิยมสูงในยุคปัจจุบัน “บ้านไอเดีย” เคยนำเสนอวิธีแก้ปัญหามาหลายบทความ ทั้งด้านเสียงดังขณะฝนตกและการป้องกันความร้อน ซึ่งหากผู้อ่านได้ทำตามคำแนะนำดังกล่าว ก็จะสามารถแก้จุดด้อยต่าง ๆ ของงานหลังคาเมทัลชีทได้ สำหรับเนื้อหานี้จึงขอพาไปเรียนรู้จุดเด่นอื่น ๆ ที่จะพบได้เมื่อเลือกใช้หลังคาเมทัลชีทครับ
ตัวอย่างบ้านสไตล์ญี่ปุ่น หลังคาปั้นหยาใช้วัสดุเมทัลชีท ออกแบบโดย : Lim Chai Boon
เมทัลชีททำหลังคาองศาต่ำได้
หากผู้อ่านเลือกใช้หลังคากระเบื้องซีแพ็ค โดยทั่วไปจะรองรับองศาความชันหลังคาประมาณ 25-45 องศา ซึ่งหากโจทย์งานในการสร้างบ้านคือหลังคาทรงจั่ว ทรงปั้นหยา ก็สามารถเลือกใช้หลังคาซีแพ็คได้อย่างเหมาะสมครับ แต่หากโจทย์ในการสร้างบ้านต้องการบ้านที่มีองศาหลังคาต่ำ อย่างหลังคาหมาแหงน หลังคาแบน หรือต้องการความต่างในด้านงานดีไซน์ หลังคากระเบื้องซีแพ็คจะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถปรับให้มีองศาต่ำได้
ตัวอย่างบ้านสไตล์ญี่ปุ่น หลังคาปั้นหยาใช้วัสดุเมทัลชีท ออกแบบโดย : Lim Chai Boon
สำหรับหลังคาเมทัลชีทรุ่นทั่วไปจะรองรับองศาความชันที่ 5 องศา และรุ่นพิเศษรองรับที่ 2 องศา ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านดีไซน์ไปได้มากครับ สถาปนิกสามารถออกแบบบ้านให้มีความเป็นโมเดิร์น เส้นสายเฉียบคม หรือแม้แต่บ้านหลังคาทรงไทยอย่างปั้นหยาและจั่ว ก็สามารถออกแบบให้มีองศาต่ำเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้บ้านของเราครับ
เมทัลชีทคายความร้อนได้ดี
จุดด้อยของเมทัลชีทคือเรื่องความร้อน เนื่องด้วยวัสดุประเภทโลหะจะนำความร้อนได้ดีกว่างานกระเบื้อง แต่ในข้อด้อยนั้นมีข้อดีอยู่ครับ วัสดุใดที่นำความร้อนได้ดีก็จะคายความร้อนได้ดีเช่นกันครับ กรณีหลังคาประเภทคอนกรีต ทั้งหลังคา Slab และกระเบื้องซีแพ็ค สามารถป้องกันความร้อนได้ดีกว่าหลังคาเมทัลชีท แต่หลังคาประเภทนี้จะมีข้อเสียเรื่องอมความร้อนครับ ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะค่อย ๆ สะสมในช่วงกลางวัน เมื่อตกเย็นความร้อนจะค่อย ๆ คายตัวออกมา ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่สบายตัวในยามค่ำคืน
ส่วนเมทัลชีทแม้จะรับความร้อนได้ไว แต่ไม่มีคุณสมบัติอมความร้อนครับ หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ความร้อนจะหายไปโดยทันที ยิ่งหากเลือกใช้เมทัลชีทที่มีการเคลือบสีสะท้อนความร้อน พร้อมกับติดตั้งฉนวนกันร้อน ก็จะช่วยลดข้อด้อยของเมทัลชีทได้ดีครับ
ภาพประกอบ | Duncan Inne
ไร้รอยต่อ ทอเต็มผืน
หากเปรียบเทียบเมทัลชีทกับงานกระเบื้อง โอกาสการรั่วซึมของงานกระเบื้องจะสูงกว่าเมทัลชีทค่อนข้างมากครับ เนื่องด้วยลักษณะการปูกระเบื้องจะใช้แผ่นกระเบื้องเรียงซ้อนทับกัน หากการติดตั้งไม่ตรงสเปค ไม่ได้มาตรฐาน โอกาสที่น้ำจะไหลย้อนกลับและมีแนวโน้มว่าจะรั่วซึมได้สูง ส่วนเมทัลชีท สามารถสั่งผลิตได้ยาวตลอดแนวหลังคา แผ่นหลังคาจึงต่อเนื่องยาวจากสันหลังคาไปสู่ปลายชายคา จึงสามารถลดจุดเสี่ยงในการรั่วซึมได้ดีกว่างานกระเบื้องหลังคามากครับ
เมทัลชีทเป็นมิตรกับงานต่อเติม
เปอร์เซ็นในการสร้างบ้านเกือบทุกหลังไม่สามารถสร้างได้จบในครั้งเดียว เมื่อวันเวลาผ่านไปความต้องการในการใช้งานมักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านภายในโครงการจัดสรรจะออกแบบมาเพื่อการแข่งขันด้านราคา จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนฟังก์ชันบางส่วนออก อาทิ ครัวไทยหลังบ้าน โรงจอดรถยนต์หน้าบ้าน ซึ่งปกติทางโครงการจะไม่มีมาให้ เจ้าของบ้านจำเป็นต้องหาช่างมาต่อเติมเอง
จุดที่น่ากังวลคือปัญหาการทรุดตัวของงานต่อเติม การต่อเติมที่ปลอดภัยจึงจำเป็นต้องเลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งงานลักษณะนี้นับเป็นจุดเด่นสำคัญของวัสดุเมทัลชีทเลยหละครับ เจ้าของบ้านจึงสามารถต่อเติมได้อย่างหายห่วง ตัวอาคารไม่จำเป็นต้องพ่วงน้ำหนักโครงสร้างบ้านให้มากเกินจำเป็น
ลดต้นทุนเพราะจบงานไว
หนึ่งในเหตุผลหลัก ที่เจ้าของบ้านเลือกวัสดุเมทัลชีทมาทำหลังคาบ้าน คือ ต้นทุนครับ โดยเฉพาะต้นทุนของเวลาที่มีผลต่อการเข้าใช้อาคารและแรงงานก่อสร้าง โดยปกติการติดตั้งหลังคาเมทัลชีทสำหรับบ้านทั่วไป หากมีการเตรียมหน้างานไว้พร้อม และพื้นที่ก่อสร้างสามารถเข้าถึงการเคลื่อนย้ายวัสดุได้โดยสะดวก เพียงวันเดียวก็สามารถติดตั้งหลังคาเมทัลชีทได้จบทั้งหลังแล้วครับ
ยิ่งหากเป็นอาคารประเภท ร้านค้า ร้านอาหาร สำนักงาน ยิ่งงานจบได้ไวมากเท่าไหร่ ยิ่งหมายถึงผลกำไรที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจคืนทุนไวยิ่งขึ้น เราจึงเห็นอาคารประเภทดังกล่าวนิยมใช้โครงสร้างเหล็ก ร่วมกับหลังคาเมทัลชีท ซึ่งจะช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจเร็วกว่าบ้านโครงสร้างทั่วไปค่อนข้างมากเลยครับ
แถมอีกข้อ หลังคาเมทัลชีทดัดโค้งได้
แม้จะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ได้รับความนิยมในการใช้งานจริงเท่าไหร่นัก แต่การดัดโค้งได้เป็นจุดบ่งชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายในการใช้งานเมทัลชีทได้เป็นอย่างดีครับ โดยปกติการดัดโค้งนิยมใช้ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสาธารณะ หอประชุมและอาคารใหญ่ต่าง ๆ หรือหากผู้อ่านท่านใดต้องการความแปลกใหม่ให้กับบ้าน สามารถให้สถาปนิกออกแบบบ้านหลังคาโค้งได้เช่นกันครับ
อย่างที่เกริ่นนำไว้ข้างต้น ทุกวัสดุล้วนมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป เหตุผลในการเลือกใช้วัสดุของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความเหมาะสมในงานดีไซน์ ต้นทุนงานก่อสร้าง ความรวดเร็วหรือแม้แต่รสนิยมความชอบส่วนตัว ล้วนเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ
แต่ไม่ว่าผู้อ่านจะเลือกใช้วัสดุประเภทใด มีจุดหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการเลือกประเภทวัสดุ นั่นคือคุณภาพของงานวัสดุในแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น และกระบวนการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน เพราะแม้ประเภทวัสดุจะมีคุณสมบัติที่ดีแต่ผลิตจากแบรนด์ด้อยคุณภาพ หรือติดตั้งโดยช่างที่ขาดประสบการณ์ ก็ไม่อาจใช้งานได้ดีในระยะยาวได้ การเลือกวัสดุที่ดี จึงต้องดีพร้อมทั้งประเภท คุณภาพของสินค้าและช่างผู้ติดตั้งที่มีประสบการณ์ เพื่อให้บ้านของเราอยู่อย่างเป็นสุขอย่างยาวนานครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.banidea.com/metal-sheet-attribute/