หลังคาเมทัลชีท

5 เทคนิค สร้างกิมมิกให้บ้าน ด้วยหลังคาเมทัลชีท

วัสดุประเภทเดียวกันสามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลายมิติ ยิ่งหากผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้น ๆ เป็นบุคคลที่เข้าใจเอกลักษณ์เฉพาะของวัสดุจะยิ่งสามารถถ่ายทอดคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัสดุออกมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าและก่อเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมทัลชีทก็เช่นเดียวกันครับ โดยทั่วไปแล้วผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยเมทัลชีทกับหลังคาทรงหมาแหงน ในความเป็นจริงแล้วเมทัลชีทเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นต่องานออกแบบสูงมาก สามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลายรูปแบบ เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” จึงมอบหมายให้นักออกแบบ มาบอกเล่าว่า เมทัลชีทสามารถสร้างเอกลักษณ์หรือกิมมิกใดให้กับบ้านได้บ้าง พร้อมหยิบยก 5 ตัวอย่างรูปทรงหลังคาที่มีกิมมิกเฉพาะตัว เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดแนวทางและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบ้านของเรา

หลังคาเมทัลชีท

ออกแบบโดย : Eleena Jamil Architect

1. องศาที่แตกต่าง

สำหรับเมทัลชีทรุ่นมาตรฐานทั่วไป จะนิยมออกแบบองศาหลังคาประมาณ 5 องศาตามมาตรฐานที่เมทัลชีททั่วไปทำได้ครับ แต่หากต้องการความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ สถาปนิกจะเลือกปรับเปลี่ยนมุมองศาหลังคาให้เหมาะสมกับบ้านหลังนั้น ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งความต่างขององศาเพียงไม่กี่องศา อาจสร้างกิมมิกให้บ้านหลังดังกล่าวได้อย่างโดดเด่น ตัวอย่างบ้านหลังนี้ เน้นความดิบเท่ด้วยผนังคอนกรีตเปลือย ส่วนหลังคาบ้านออกแบบลักษณะหลังคาหมาแหงน แต่เลือกที่จะแหงนมากเป็นพิเศษถึง 15 องศา จึงก่อให้เกิดความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่จุดประสงค์ของการแหงนนี้ ไม่ได้เพียงเพื่อความเท่เท่านั้นนะครับ แต่เกิดจากความต้องการออกแบบให้มีห้องใต้หลังคาที่สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ชั้น 3 ได้อย่างลงตัว

หลังคาเมทัลชีท

ออกแบบโดย : Truong An

2. โชว์เมทัลชีทแบบเปลือยก็สวยดี

โดยทั่วไปการนำเมทัลชีทมาใช้งาน จำเป็นต้องมีฉนวนกันร้อนและฝ้าเพดานร่วมด้วยเสมอ เพื่อช่วยป้องกันความร้อนและเสียงรบกวนในช่วงฝนตก แต่หากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นการพักผ่อนอย่างสงบหรือมีการออกแบบที่โปร่งโล่งมาทดแทน การเปลือยเมทัลชีทนับเป็นอีกแนวทางฉีกกฎที่สามารถทำได้ ตัวอย่างบ้านหลังนี้พื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ในโซนชนบท ภายนอกอาคารมีพื้นที่ลานโล่งก่อให้เกิดกระแสลมพัดผ่าน สถาปนิกจึงออกแบบให้ตัวบ้านมีช่องรับลมธรรมชาติมากเป็นพิเศษ อากาศภายในบ้านจึงมีการเปลี่ยนถ่ายอยู่เสมอไม่ก่อให้เกิดความร้อนสะสมในบ้าน การเปลือยหลังคาโชว์ลวดลายของลอนเมทัลชีท ยังช่วยให้บ้านเข้ากับสไตล์ Tropical Modern สอดรับกับพื้นที่ชนบท ส่วนห้องอื่น ๆ ภายในบ้านอย่างห้องนอนสามารถแยกสัดส่วนเพื่อทำการติดตั้งฝ้าเพดานได้ตามปกติครับ

หลังคาเมทัลชีท

ออกแบบโดย : Studio Saxe

3. เมทัลชีททำชายคายื่นยาวได้

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการออกแบบหลังคาบ้าน จำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของสถานที่ก่อสร้างนั้น ๆ ในประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ฝนตกชุก บ้านเรือนในไทยจึงนิยมออกแบบให้มีชายคายื่นยาว แต่การยื่นยาวสำหรับหลังคาทั่วไปมีข้อจำกัดเรื่องงานโครงสร้างและน้ำหนักวัสดุหลังคาครับ บ้านทั่วไปจึงนิยมออกแบบให้ชายคายื่นยาวประมาณ 1-1.2 เมตรเท่านั้น แต่หากเลือกใช้หลังคาเมทัลชีทซึ่งมีจุดเด่นเรื่องน้ำหนักเบา จะสามารถออกแบบชายคายื่นยาวได้มากกว่าวัสดุหลังคาทั่วไป นอกจากจะช่วยกันแดดกันฝนได้ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้รูปทรงบ้านดูโฉบเฉี่ยวแตกต่างไปจากบ้านทั่วไปครับ

หลังคาเมทัลชีท

ออกแบบโดย : Alkhemist Architects

4. กางร่มให้หลังคาอีกชั้น ด้วยเมทัลชีท

โจทย์ในงานออกแบบบ้านมีความหลากหลายครับ บ้านบางหลังต้องการใช้หลังคา Slab คอนกรีต เพื่อต้องการความปลอดภัยและสามารถใช้ประโยชน์ต่าง ๆ บนพื้นที่หลังคาได้ อาทิ วางกระถางต้นไม้ เป็นพื้นที่วางคอมเพรสเซอร์แอร์ แต่การใช้งานหลังคาคอนกรีตบ่อยครั้งต้องเผชิญกับปัญหาหลังคารั่วซึม สถาปนิกจึงนำวัสดุหลังคาเมทัลชีทมาใช้งานร่วมกับหลังคาคอนกรีตด้วยวิธีครอบหลังคาคอนกรีตเดิมอีกชั้น วิธีการนี้เป็นการนำข้อดีของวัสดุทั้งสองประเภทมาผนวกเข้าด้วยกัน แม้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่รับประกันได้เลยว่า สามารถจบทุกปัญหาของหลังคาบ้านได้ทันที

หลังคาเมทัลชีท

ออกแบบโดย : Studio Saxe

โดยเมทัลชีทมีจุดเด่นเรื่องกันรั่ว จึงทำหน้าที่ครอบหลังคาคอนกรีตไว้ชั้นนอก อีกทั้งระยะห่างระหว่างหลังคาเมทัลชีทกับหลังคาคอนกรีต ยังช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี ความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงไม่ส่งตรงมายังหลังคาคอนกรีต เทคนิคการออกแบบลักษณะนี้จึงช่วยป้องกันทั้งความร้อน รั่วซึม เสียงรบกวน รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้กับการอยู่อาศัยที่ดีครับ ตัวอย่างบ้านหลังนี้ นอกจากคุณสมบัติต่าง ๆ แล้ว สถาปนิกยังเพิ่มเอกลักษณ์ด้วยหลังคาปีกผีเสื้อ เป็นความเท่ที่อยู่สบาย

วัสดุหลังคาเปลี่ยน อารมณ์บ้านก็เปลี่ยนตาม - 5 เทคนิคสร้างกิมมิกโดยหลังคาเมทัลชีท | NS BlueScope Thailand

5. วัสดุหลังคาเปลี่ยน อารมณ์บ้านก็เปลี่ยนตาม

โดยปกติคนไทยจะคุ้นเคยกับบ้านหลังคาปั้นหยากันดีแล้ว โดยเฉพาะบ้านในโครงการจัดสรรประมาณ 90% เลือกใช้หลังคาทรงปั้นหยาครับ และหลังคาปั้นหยาส่วนใหญ่จะนิยมใช้ร่วมกับกระเบื้องหลังคาซีแพค แต่กระเบื้องซีแพคมีข้อจำกัดด้านองศาที่รองรับองศาหลังคาประมาณ 25 องศาขึ้นไป ทำให้บ้านส่วนใหญ่จำเป็นต้องออกแบบให้หลังคาปั้นหยามีองศาความชันที่สูง การทะลายกรอบข้อจำกัดด้านองศาความชันจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุหลังคาใหม่ครับ

ตัวอย่างบ้านหลังนี้เลือกใช้วัสดุเมทัลชีทมาใช้งานร่วมกับหลังคาปั้นหยา ซึ่งสามารถออกแบบให้องศาต่ำกว่าหลังคาปั้นหยาแบบทั่วไปได้ จึงก่อให้เกิดรูปทรงปั้นหยาที่ดูแปลกตา ให้อารมณ์อบอุ่นสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างลงตัวครับ

หลังคาเมทัลชีท

ออกแบบโดย : Junsekino

เพราะหลังคาบ้าน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างเอกลักษณ์ความสวยงามให้กับบ้านแต่ละหลังได้ จะว่าไปแล้วทั้ง 5 ตัวอย่างที่คัดสรรมาให้ชมในเนื้อหานี้ หลังคาบ้านส่วนใหญ่ก็มีความใกล้เคียงกับบ้านทั่วไปครับ แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของสถาปนิกจึงมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์บางจุดให้แตกต่างไปจากเดิมทำให้บ้านดูแตกต่างไปจากบ้านทั่วไป จุดสำคัญในการสร้าางกิมมิกให้บ้าน นอกจากการคัดสรรสถาปนิกมาออกแบบบ้านให้เราแล้ว สถาปนิกยังจำเป็นต้องคัดสรรวัสดุหลังคา เพื่อให้บ้านที่ออกแบบก่อเกิดเอกลักษณ์ที่สวยงามและเหมาะกับการใช้งานอย่างลงตัว

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.banidea.com/metal-sheet-roof-design/