
5 วิธีลดเสียงดังขณะฝนตก ให้หลังคาเมทัลชีท
วัสดุก่อสร้างแต่ละประเภท มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน สำหรับวัสดุหลังคาเมทัลชีทหากเทียบการใช้งานเฉพาะฤดูฝน เมทัลชีทมีจุดเด่นที่สามารถป้องกันปัญหารั่วซึมได้ดีกว่าวัสดุหลังคาอื่น ๆ ทุกประเภท เนื่องด้วยหลังคาเมทัลชีทเป็นหลังคาเหล็กรีดลอนที่สามารถสั่งผลิตได้ยาวต่อเนื่องตลอดทั้งผืน หลังคาจึงไม่เกิดรอยต่ออย่างวัสดุอื่น ๆ โอกาสการรั่วซึมจึงน้อยมากครับ
ส่วนจุดอ่อนของเมทัลชีทในช่วงฤดูฝนอย่างที่ทราบกัน เมื่อเม็ดฝนกระทบลงบนแผ่นหลังคาเหล็กที่บางย่อมก่อให้เกิดเสียงดัง การเลือกใช้หลังคาเมทัลชีทจึงจำเป็นต้องมองหาวิธีป้องกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับจุดแข็ง และลดปัญหาของจุดอ่อนให้น้อยลง เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” นำ 5 วิธีลดปัญหาหลังคาเมทัลชีทดังขณะฝนตกมาฝากกันครับ

1. เลือกแผ่นฝ้า ออกแบบให้กันเสียง
ฝ้าเพดานเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่โดยปกติเกือบทุกบ้านนิยมทำกัน เพื่อป้องกันความร้อน ป้องกันเศษฝุ่นละอองจากใต้โถงหลังคา อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นระเบียบสวยงามภายในบ้าน สำหรับการเลือกฝ้าเพดานเพื่อป้องกันเสียงรบกวน ควรเลือกใช้แผ่นฝ้ายิปซัม (ฝ้าแผ่นเรียบ) ที่มีขนาดความหนา 10 ม.ม. ความหนาของแผ่นฝ้าจะมีผลกับการป้องกันเสียงเป็นอย่างมากครับ ส่วนแผ่นฝ้าที่ไม่แนะนำให้ใช้ คือ ฝ้าทีบาร์ เนื่องด้วยการติดตั้งฝ้าทีบาร์จะติดตั้งในลักษณะวางเรียงต่อกัน รอยต่อของแผ่นฝ้าจะส่งผลให้เสียงรบกวนเล็ดลอดออกมาได้เยอะกว่าฝ้าแผ่นเรียบครับ

ตัวอย่างการออกแบบฝ้า 2 ชั้น เพื่อติดตั้งโคมไฟ ภาพประกอบ | Nufuz
การออกแบบฝ้า ควรออกแบบให้มีช่องเจาะน้อยที่สุด เนื่องด้วยช่องเจาะต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เสียงเล็ดลอดออกมาได้ ช่องเจาะเหล่านี้มักเกิดขึ้นบริเวณตำแหน่งโคมไฟ หลังจากช่างติดตั้งโคมไฟเรียบร้อยแล้วแนะนำให้ใช้ซิลิโคนยาแนวบริเวณรอบ ๆ เพื่ออุดช่องวาง ช่วยป้องกันการเล็ดลอดของเสียงครับ แต่หากไม่มีการเจาะเลยก็จะดีกว่า โดยทำการออกแบบฝ้าลักษณะซ่อนไฟ ซึ่งจะเหมาะกับห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องใด ๆ ที่ไม่ได้ต้องการแสงสว่างมากนัก กรณีมีจุดใดที่ต้องการติดตั้งโคมไฟบนฝ้า แนะนำให้ออกแบบส่วนดังกล่าวเป็นลักษณะฝ้า 2 ชั้น โดยให้ชั้นในเป็นฝ้าแผ่นเรียบที่ไม่มีรอยเจาะ และติดตั้งโคมไฟบนฝ้าชั้นนอกครับ

ตัวอย่างการพ่นโฟม PU | ภาพ : ThermoSeal
2. ฉนวนกันร้อน กันเสียงได้ด้วย
สิ่งที่บ้านไอเดียย้ำบอกเสมอ หากบ้านไหนใช้หลังคาเมทัลชีท ควรติดตั้งฉนวนกันร้อนเพิ่มด้วย สามารถเลือกติดตั้งได้ทั้งฉนวนใยแก้ว, โฟม PE ที่ติดตั้งมาพร้อมเมทัลชีท (แซนวิช) หรือพ่นโฟม PU ใต้แผ่นหลังคา โดยหน้าที่หลักของฉนวนกันร้อนจะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิให้ภายในบ้านเย็นลง ส่วนด้านเสียงรบกวนเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการติดตั้งฉนวนครับ

ภาพประกอบ | ISO-Noise
3. ฉนวนกันเสียง ชนะทุกเสียงรบกวน
จะว่าไปแล้ว..นวัตกรรมเรื่องบ้านนั้นมีวิวัฒนาการไปเยอะมากครับ โดยปกติฉนวนกันเสียงจะนิยมใช้ร่วมกับห้องบันทึกเสียง ห้องประชุม ห้องดูหนัง หรือห้องใด ๆ ที่ไม่ต้องการเสียงรบกวน รวมทั้งป้องกันเสียงจากห้องนั้น ๆ เล็ดลอดออกสู่ภายนอก ปัจจุบันหลาย ๆ บ้านจึงนำฉนวนกันเสียงมาประยุกต์ใช้ร่วมกับหลังคาเมทัลชีท โดยจะเลือกเฉพาะห้องที่ต้องการความสงบเงียบเป็นพิเศษอย่างห้องนอนและห้องนั่งเล่น ส่วนห้องอื่น ๆ ไม่ได้ใช้งานบ่อยก็อาจอนุญาตให้มีเสียงเล็ดลอดออกมาได้

ภาพประกอบ | Duncan Inne
4. ทรงหลังคามีผลกับเสียง
หลังคาที่นิยมใช้ร่วมกับวัสดุเมทัลชีทมากที่สุดในยุคปัจจุบัน เป็นลักษณะหลังคาองศาต่ำ ทั้งหลังคาทรงแบนและหลังคาทรงหมาแหงน ด้วยองศาที่ต่ำแบนราบนี่เอง ส่งผลให้การตกกระทบของเม็ดฝนได้รับแรงกระแทกแบบเต็ม ๆ แตกต่างจากหลังคาที่มีองศาความชันมาก อย่างหลังคาจั่ว ปั้นหยา การตกกระทบของเม็ดฝนจะเป็นลักษณะแฉลบข้างจึงได้รับแรงกระแทกที่น้อยกว่า เสียงจึงเบากว่า
อีกทั้งหลังคาที่มีองศาความชันสูง จะมีโถงหลังคาที่สูงตาม ทำให้ระยะห่างของแผ่นหลังคาเมทัลชีทกับพื้นที่อยู่อาศัยภายในบ้านห่างกัน จึงช่วยลดเสียงดังได้ดีกว่าครับ
5. เมทัลชีทคุณภาพสูง ลดเสียงรบกวนได้
ปัจจุบันเมทัลชีทมีให้เลือกหลายเกรด หลายแบรนด์ หลายคุณภาพ แต่ละเกรดจะเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน การนำเมทัลชีทมาใช้ร่วมกับงานหลังคา แนะนำให้เลือกแผ่นเมทัลชีทที่มีความหนาอย่างน้อย 0.35 ม.ม. ขึ้นไป หรือหากเป็นสเปคที่สถาปนิกแนะนำให้ใช้ มีความหนา 0.47 ม.ม. ยิ่งหนามาก ยิ่งมีคุณสมบัติป้องกันเสียงได้มากขึ้น แต่อาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้นตาม

5นอกจากนี้ ยังมีเฉดสีให้เลือกมากมาย ครบทุกอารมณ์สีสวยเงางาม ทันสมัย ชัดเจนทุกรายละเอียดทุกพื้นผิว สีสดทนนานกว่า ด้วยเนื้อสีสูตรพิเศษที่นอกจากความเงางาม สวยสดใสแล้ว เนื้อสียังช่วยสะท้อนความร้อน จากแสงแดดที่เป็นตัวทำลายพื้นผิวให้ซีดจาง และรับประกัน สีไม่ซีดจางถึง 7 ปี
และสิ่งสำคัญ หลังคาเหล็ก BlueScope ZACS ยังได้รับมาตรฐานมอก. พร้อมรับประกันสีไม่ซีดจาง 7 ปี และรับประกันไม่ผุกร่อนถึง 12 ปีทุกแผ่น จึงมั่นใจได้ว่าหลังคาเหล็กจาก BlueScope ZACS จะแข็งแรงทนทาน และสีสันสวยสดไปอีกนาน
เมทัลชีท เสียงดังไหม ? เป็นคำถามที่พบได้บ่อยตามกระทู้และกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ในคำถามเดียวกันอาจได้คำตอบที่แตกต่างกัน บางท่านบอกว่าดังมาก บางท่านบอกว่าพอรับได้ และในขณะเดียวกัน บางท่านบอกว่าไม่รู้สึกถึงความดัง นั่นเป็นเพราะระดับความถี่เสียงรบกวนของแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกันครับ ระดับความดังที่เท่ากัน บางท่านอาจรู้สึกว่าดังมาก แต่บางท่านอาจไม่รู้สึกอะไร อย่างไรก็ตาม การป้องกันไว้ก่อนตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง ทั้งการเลือกวัสดุเมทัลชีท วัสดุป้องกัน รวมทั้งแนวทางการออกแบบ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าของบ้านไม่ต้องเผชิญปัญหาในอนาคต เพราะหากแก้ปัญหาภายหลังย่อมยุ่งยากกว่าและเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หากต้องการสร้างบ้านด้วยเมทัลชีท จึงควรวางแผนเพื่อป้องกันเสียงและป้องกันความร้อนตั้งแต่กระบวนการออกแบบไว้ได้เลยครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.banidea.com/reduce-sound-the-metal-roof/