รู้ก่อนรั่ว ดูก่อนพัง ข้อระวังในงานติดตั้งหลังคาเมทัลชีท
เป็นที่ทราบกันดีว่า วัสดุหลังคาบ้านที่มีปัญหารั่วซึมน้อยสุดคืองานมุงหลังคาเมทัลชีท นั่นเป็นเพราะวัสดุเมทัลชีทสามารถสั่งผลิตให้มีความยาวของงานหลังคาต่อเนื่องตลอดทั้งผืนได้ เมื่อหลังคาเป็นผืนเดียวกัน หลังคาจึงไม่มีรอยต่อระหว่างแผ่นหรือหากมีก็น้อยกว่าหลังคาทั่วไปมาก อีกทั้งวัสดุเมทัลชีทมีน้ำหนักเบากว่าวัสดุหลังคาชนิดอื่น ๆ จึงช่วยลดปัญหาด้านโครงสร้างหลังคาไปได้มาก แต่อย่างไรก็ตามในข้อดีเหล่านี้เราก็ยังเห็นข้อผิดพลาดในงานติดตั้งกันบ่อยครั้ง เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” รวบรวมจุดบกพร่องที่พบได้บ่อย บางบ้านอาจจะเจอปัญหาเมื่ออยู่อาศัยไปแล้ว 3-4 ปี บางบ้านไวหน่อย ยังไม่ทันเข้าอยู่ บ้านยังสร้างไม่เสร็จก็เริ่มเจอปัญหาแล้วครับ
1. จุดรั่วที่หัวสกรู
เมทัลชีทที่มีจำหน่ายในปัจจุบันมีให้เลือก 2 ระบบครับ ระบบคลิปล็อคและระบบยึดเจาะด้วยสกรู หากเป็นระบบคลิปล็อคตัดปัญหาข้อนี้ได้เลยเพราะเราจะไม่เห็นสกรูบนหลังคาแต่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเมทัลชีทแบบทั่วไป ปัญหาหลัก ๆ จึงอยู่ที่การเจาะสกรู โดยช่างจะทำการเจาะสกรูลงไปยังแผ่นเหล็กเมทัลชีท เพื่อให้แผ่นเหล็กยึดติดกับโครงหลังคาเมทัลชีทได้อย่างแน่นหนา ปัญหาที่พบบ่อย ช่างบางรายไม่ได้ใส่แหวนรองยางกันน้ำใต้หัวสกรู ซึ่งแหวนรองดังกล่าวจะทำหน้าที่อุดช่องว่างระหว่างสกรูเหล็กและหลังคาเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันน้ำไหลซึมนั่นเองครับ การยึดสกรูไม่ควรยึดแน่นเกินไป มิเช่นนั้นอาจทำให้แหวนรองยางขาดได้ ในขณะเดียวกันไม่ควรหลวมจนเกินไปเพราะอาจส่งผลให้สกรูคลายตัวภายหลังและควรเลือกสกรูคุณภาพดีไม่เป็นสนิมในอนาคต
บ่อยครั้งพบว่า ช่างบางรายเจาะสกรูพลาดตำแหน่ง แต่อาจหลงลืมจึงไม่ได้ปิดอุดรูที่เจาะพลาด ปล่อยให้เกิดรูโหว่กลายเป็นช่องทางน้ำรั่วไหลได้อย่างดีเลยครับ อย่างไรก็ตามปัญหารอยรั่วบริเวณหัวสกรูสามารถแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากนัก เพียงแค่หาอุปกรณ์ซ่อมแซมรูปแบบต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งซิลิโคน, ฟลิ้นโค้ทและเทปอลูมิเนียม
2. ระยะแปห่างเกิน ทำให้ตกท้องช้าง
ปัญหานี้พบได้บ่อยในงานต่อเติม โดยเฉพาะหลังคาโรงจอดรถที่ต้องการความกว้างเป็นพิเศษ เช่น กว้าง 5-6 เมตรขึ้นไป เพื่อรองรับการจอดรถยนต์ 2 คัน โดยนิยมออกแบบไม่ให้มีเสาคั่นกลาง ยิ่งหลังคามีความกว้างโดยไม่มีเสามาก การคำนวณระยะแปจะต้องมีความถี่ตามมา หรือออกแบบโครงหลังคาเมทัลชีทให้งานโครงสร้างมีความแข็งแรงมากขึ้น เพราะหากระยะแปไม่สมสัดส่วนกับน้ำหนักหลังคา ไม่ว่าหลังคาเมทัลชีทมีกี่แบบก็อาจส่งผลให้เกิดอาการแอ่นตัวหรือที่เรียกว่าตกท้องช้างนั่นเองครับ การติดตั้งจึงจำเป็นต้องดูสเปคความหนาของแผ่นเมทัลชีท ระยะความห่างของแป และจำเป็นต้องให้วิศวกรคำนวณให้เสมอครับ แม้จะเป็นงานต่อเติมเล็ก ๆ ไม่ควรคิดเอง เออเอง ให้ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ทำย่อมปลอดภัยที่สุด
3. Slope หลังคาน้อยเกินไป
โดยปกติเมทัลชีทรุ่นทั่วไปจะรองรับความลาดเอียงตั้งแต่ 5 องศาขึ้นไปครับ และรองรับ 3 องศาขึ้นไปในรุ่นคลิปล็อค ปัญหามักเกิดจากการเลือกวัสดุไม่ตรงกับสเปคหลังคา เช่น สถาปนิกออกแบบหลังคาไว้ 3 องศา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เมทัลชีทรุ่นพิเศษ แต่ผู้รับเหมาหรือเจ้าของบ้านบางท่านอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องการประหยัดงบจึงลดสเปควัสดุ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาภายหลัง การติดตั้งหลังคาเมทัลชีทจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องเลือกสเปควัสดุให้เหมาะกับแบบที่สถาปนิกออกแบบไว้ครับ นอกจากปัญหาสเปคไม่ตรงกันแล้ว องศาที่ต่ำเกินไปอาจส่งผลให้น้ำไหลย้อนกลับ อาจก่อให้เกิดปัญหาของการรั่วซึมบริเวณช่วงรอยต่อเมทัลชีทครับ
4. ลืมเศษโลหะไว้บนหลังคา
นับเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุเล็ก ๆ และไม่ควรมองข้าม หลังจากช่างทำการติดตั้งหลังคาเมทัลชีทเสร็จแล้วไม่เก็บงานให้เรียบร้อย ปล่อยทิ้งเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดจากงานตัด เจาะ ไว้บนหลังคาบ้าน ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่เห็นผลในระยะแรกครับ แต่เมื่อผ่านแดด ผ่านฝนมานานหลายปี เศษโลหะเหล่านี้จะก่อตัวเป็นสนิม ทำให้แผ่นหลังคาผุกร่อนได้ครับ โดยปกติหลังคาเมทัลชีทผลิตจากวัสดุอลูซิงค์ ซึ่งป้องกันสนิมได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นสนิมเลย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปัดกวาดให้เรียบร้อยหลังจากติดตั้งเสร็จ โดยเฉพาะหลังคาที่ออกแบบลักษณะซ่อน ทำให้มองไม่เห็นเศษวัสดุจากด้านล่าง
ที่แย่ไปกว่านั้น เคยมีบางงาน ช่างลืมเศษเมทัลชีทที่เกิดจากการตัดไว้บนหลังคา เพิ่งมารู้ภายหลังในวันที่มีกระแสลมพัดแรง ซึ่งหากพลาดไปโดนใครอาจหมายถึงชีวิตได้เลยครับ เพราะโดยปกติแผ่นเมทัลชีทจะมีความบางคม หากตกหล่นด้วยความเร็วย่อมก่อให้เกิดอันตรายกับผู้อยู่อาศัยได้
5. วัสดุไม่ได้มาตรฐาน
การประหยัดงบก่อสร้างเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ หากมีตัวเลือกที่ถูกลงแต่ยังได้มาตรฐานงานที่ดี เจ้าของบ้านสามารถเลือกสเปควัสดุที่เหมาะสมกับงบประมาณงานก่อสร้างได้ครับ แต่อย่างไรก็ตามวัสดุที่เลือกจำเป็นต้องมีมาตรฐานในระดับหนึ่งและเหมาะสมกับงานประเภทนั้น ๆ เช่น งานหลังคาหลักของบ้านแนะนำเลือกความหนาเมทัลชีท 0.4-0.47 มิลลิเมตร หรืออย่างน้อยที่สุด 0.35 มิลลิเมตร หากมีความหนาน้อยกว่านี้จะไม่เหมาะกับงานหลังคาบ้าน แต่จะเหมาะกับงานรั้วหรืองานอื่น ๆ ที่ไม่ได้ต้องการความทนทานมากนัก
นอกจากความหนาของหลังคาเมทัลชีทแล้ว เจ้าของบ้านยังสามารถตรวจดูได้ว่าวัสดุนั้นๆ ได้รับมาตรฐาน มอก.หรือไม่ เพราะมาตรฐาน มอก. จะเป็นตัวการันตีว่าสินค้านั้นๆ ได้มาตรฐานตรงตามที่สเปคกำหนด ช่วยให้หมดกังวัลเรื่องเมทัลชีทไม่ได้คุณภาพ ตัวอย่างหลังคา BlueScope ZACS ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 2753-2559 โดย มอก. ระบุไว้ว่าแผ่นเมทัลชีทที่ได้รับมาตรฐาน มอก. ต้องมีปริมาณของสารชั้นเคลือบแผ่นเหล็กทั้งสองด้านรวมกันไม่น้อยกว่า 70 กรัม /ตารางเมตร ปริมาณของสารเคลือบจะมีผลกับการป้องกันสนิมของแผ่นเมทัลชีท ยิ่งเคลือบด้วยปริมาณมาก ก็ยิ่งป้องกันปัญหาปัญหาเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนตัดสินเลือกซื้อเมทัลชีท จำเป็นต้องตรวจสอบมาตรฐานต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้หลังคาบ้านทำหน้าที่ปกป้องบ้านของเราได้ยาวนานยิ่งขึ้นครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.banidea.com/metal-sheet-tips-install/