บ้านหลังคาซ่อนเมทัลชีท ประหยัดงบ ลดรั่วซึม

รูปทรงหลังคาบ้าน เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าบ้านของเราสไตล์ไหน หากเทียบหลังคาบ้านกับร่างกายของมนุษย์ หลังคาเปรียบเสมือนทรงผมหรือหมวกที่นอกจากจะคอยปกป้องแสงแดดร้อนได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความเหมาะสมด้านดีไซน์อีกด้วยครับ และหนึ่งในรูปทรงบ้านที่ได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน คือ บ้านหลังคาแบนหรือที่เรียกกันว่าหลังคา Slab เป็นรูปทรงหลังคาที่มีเส้นสายเรียบง่าย ดูทันสมัย เหมาะกับเจ้าของบ้านที่ชื่นชอบบ้านสไตล์ Minimal และ Modern เป็นพิเศษ

โดยปกติบ้านหลังคา Slab จะใช้วิธีการเทคอนกรีตหล่อ เพื่อให้พื้นคอนกรีตทำหน้าที่เป็นหลังคาบ้าน พร้อมกับออกแบบระบบระบายน้ำ มีระบบกันซึม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้ผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและจำเป็นต้องใช้งบประมาณก่อสร้างสูงกว่าบ้านหลังคาทั่วไปมาก เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” จึงเชิญชวนสถาปนิกจาก Punplan มาบอกเล่าแนวทางออกแบบบ้านหลังคาแบนโดยใช้หลังคาเมทัลชีทมาทดแทน เพื่อแก้ปัญหารั่วซึมทั้งยังช่วยประหยัดงบก่อสร้างได้ดีกว่าเดิมมาฝากกันครับ

บ้านหลังคาแบนได้รับอิทธิพลมาจากบ้านสไตล์ Modern ในโซนยุโรป แต่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคปัจจุบันผู้เขียนเชื่อว่าเกิดขึ้นจากกระแสความนิยมที่ได้จากบ้าน Minimal ในประเทศญี่ปุ่น โดยการทำหลังคาแบนจะใช้วิธีหล่อคอนกรีตที่มีส่วนผสมของน้ำยากันซึม พร้อมกับออกแบบให้มีระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำขังหรือรั่วซึมภายหลัง แต่กระบวนการต่าง ๆ ทั้งหมดนี้หาผู้ออกแบบที่เข้าใจงานหลังคา Slab และผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ได้น้อยมาก บ้านหลายหลังจึงทำผิดวิธี ผิดกระบวนการ จึงส่งผลให้บ้านมีปัญหารั่วซึมภายหลัง

สถาปนิกจำนวนมากจึงเลือกที่จะออกแบบหลังคาแบนแบบซ่อนเมทัลชีทให้ลูกค้า เพื่อลดปัญหากระบวนการทำหลังคาที่ซับซ้อน ลดปัญหารั่วซึมในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยให้งบประมาณก่อสร้างลดลงได้อีกด้วยครับ นั่นเป็นเพราะหลังคาเมทัลชีทมีน้ำหนักเบากว่าหลังคาคอนกรีตหลายเท่าตัว จึงลดภาระโครงสร้างไปได้และต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ภาพรวมแล้วเมทัลชีท คือวัสดุหลังคาที่ประหยัดกว่าค่อนข้างเยอะครับ

โดยหลักการทำหลังคาแบนซ่อนเมทัลชีท จะใกล้เคียงกับบ้านหลังคาหมาแหงนครับ แต่เป็นหมาแหงนที่ไม่มีชายคาพร้อมกับก่อผนังปูนให้สูงขึ้นเพื่อให้ผนังครอบบดบังไม่ให้เห็นขอบของหลังคาเมทัลชีท เมื่อดูจากภายนอกจะมองไม่ออกว่ามีหลังคาเมทัลชีทซ่อนอยู่ภายใน แต่การออกแบบหลังคาประเภทนี้จำเป็นอย่างย่ิิงที่จะต้องมีสถาปนิกคอยดูแลงานออกแบบ มิเช่นนั้นอาจทำให้บ้านดูไม่สมดุลได้

หลังคาซ่อนเมทัลชีท

ออกแบบ : Punplan

5 แนวทางออกแบบหลังคาซ่อนเมทัลชีท ให้สวยลงตัว

1. มีหลังคาคอนกรีตจริงบางส่วน

คงไม่เนียนแน่ หากจะทำหลังคาซ่อนไว้ทั้งหลังโดยไม่มีของจริงพรางตาไว้เลย หลักการนี้ประยุกต์ร่วมได้กับงานออกแบบหลาย ๆ อย่างครับ โดยให้ของจริงดึงดูดสายตาเพื่อให้ผู้มองเห็นไม่ทันสังเกตสิ่งที่ซ่อนอยู่ โดยจุดที่เป็นหลังคาคอนกรีตจะเหมาะกับบริเวณด้านหน้า เช่น กรณีบ้านมีระเบียง ให้หลังคาระเบียงออกแบบด้วยงานคอนกรีตยื่นยาวประมาณ 1-2 เมตร งานคอนกรีตจริงจะช่วยพรางตาและเกิดมิติที่ลงตัวยิ่งขึ้น หรือบางส่วนเลือกใช้หลังคาคอนกรีตจริงทั้งผืน ตัวอย่างบ้านหลังดังกล่าวนี้ อาคารด้านซ้ายและขวาใช้หลังคาเมทัลชีท ส่วนตรงกลางใช้คอนกรีต Slab และมีคอนกรีตยื่นบริเวณด้านหน้า

หลังคาซ่อนเมทัลชีท

ออกแบบ : Punplan

2. เลือกด้าน Slope ที่ไม่ยาวเกินไป

ปัญหาของการซ่อนหลังคาเมทัลชีทคือความต่างขององศาหลังคา ยิ่งหลังคามีความยาวมากเท่าไหร่ความแตกต่างของระดับหลังคาจากจุดเริ่มต้นถึงจุดปลายจะมากขึ้นเท่านั้น การซ่อนหลังคาเมทัลชีท ผู้ออกแบบจึงต้องพิจารณาเลือกทิศทางการไหลของน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้หลังคายาวเกินไป ตัวอย่างภาพดังกล่าวนี้ สถาปนิกเลือกที่จะหัน Slope หลังคาเข้าด้านข้าง ระยะห่างความชันจึงไม่แตกต่างกันมากนัก ในทางกลับกัน หากวาง Slope หลังคาจากหน้าบ้านไปหลังบ้าน จะทำให้เกิดความต่างของความชันมากเกินไป

3. เลือกเมทัลชีท รุ่นรองรับองศาต่ำ

โดยปกติเมทัลชีทรุ่นทั่วไปรองรับการติดตั้งหลังคาประมาณ 5 องศาขึ้นไปครับ หากหลังคามีความยาวมากจะส่งผลให้ระดับความสูงจากจุดเริ่มต้นถึงจุดปลายมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมากเกินไป ผนังที่ใช้ปิดซ่อนหลังคาจำเป็นต้องออกแบบสูงตาม ซึ่งอาจจะทำให้ตัวอาคารดูไม่สมสัดส่วนได้ วิธีการลดความต่างของความสูงหลังคา นอกจากจะต้องเลือกด้าน Slope ที่เหมาะสมแล้ว จำเป็นต้องเลือกวัสดุหลังคาเมทัลชีทที่เหมาะสมร่วมด้วย

ปัจจุบันเมทัลชีทมีการติดตั้งระบบคลิปล็อค สามารถติดตั้งที่องศาต่ำระดับ 2 องศาได้ ระบบหลังคาคลิปล็อคมีการออกแบบมาพิเศษเพื่อลดรอยต่อต่าง ๆ จึงสามารถรองรับองศาหลังคาต่ำกว่าเมทัลชีททั่วไปแต่จำเป็นต้องแลกมาด้วยต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้นตาม จึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกด้าน Slope ที่เหมาะสมจะช่วยลดต้นทุนในงานก่อสร้างได้ครับ

หลังคาซ่อนเมทัลชีท

ออกแบบ : Thomas Löwenstein

4. เพิ่มจุดสนใจอื่น ๆ ทดแทน

ภาพถ่ายหรือภาพกราฟฟิก กับมุมมองการอยู่อาศัยจริงมีความแตกต่างกันครับ มิติการอยู่อาศัยจริงระดับสายตาของคนเราจะไม่ได้มองเห็นไปถึงหลังคาบ้าน โดยจะมองในลักษณะแหงนหน้าขึ้นไป จึงสามารถออกแบบโดยเพิ่มจุดสนใจอื่น ๆ ทดแทนได้ เช่น การเพิ่มระแนงไม้ ฟาซาด ฝ้าชายคาที่สวยงาม จะทำให้ภาพรวมของบ้านดูกลมกลืนและสวยงามยิ่งกว่าเดิมครับ

5. ระบบระบายน้ำสำคัญมาก

การระบายน้ำหลังคาเมทัลชีทแบบซ่อนมี 2 แนวทาง วิธีแรกปล่อยให้น้ำไหลลงภายนอกเลยโดยออกแบบให้ขอบเมทัลชีทเลยระยะผนังประมาณ 10-15 เซนติเมตร จะเหมาะกับการปล่อยน้ำทิ้งด้านที่ไม่เน้นโชว์ เช่น หลังบ้านหรือด้านข้าง ซึ่งหากการออกแบบเหมาะสมลงตัวกันก็สามารถใช้วิธีดังกล่าวได้เลยครับ แต่หากทิศทางการไหลของน้ำจำเป็นต้องเลือกด้านที่เน้นโชว์เป็นพิเศษ ผู้ออกแบบจะต้องออกแบบระบบรางน้ำซ่อนไว้ภายในอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายภายหลังได้ และควรมีระบบระบายน้ำสำรองเผื่อกรณีน้ำระบายไม่ทันหรือมีสิ่งอุดตันใด ๆ น้ำจะสามารถระบายออกช่องทางสำรองได้ครับ

ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นที่จะช่วยให้การออกแบบหลังคาบ้านดูสวยลงตัว อย่างไรก็ตามการออกแบบบ้านยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมอีกมากมาย ทั้งการออกแบบหน้าตาบ้านให้เข้ากับรูปทรงหลังคา ออกแบบเส้นสายต่าง ๆ ให้สมสัดส่วน รวมทั้งการเลือกสี เลือกวัสดุตกแต่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในงานออกแบบ มิเช่นนั้นอาจจะได้บ้านที่ดูผิดสัดส่วนไม่สวยงามได้ครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.banidea.com/how-to-roof-slab-metal-sheet/