วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

บ้านไทยกลิ่นอายญี่ปุ่น ที่นำเมทัลชีทมาใช้กับการออกแบบด้วยแนวคิด “วะบิ ซะบิ”

วะบิ ซะบิ ปรัชญาการใช้ชีวิตที่ฝังรากลึกในตัวตนคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ปรัชญาดังกล่าวสอนให้ผู้คนเข้าถึงสัจธรรม เห็นถึงความไม่เที่ยง น้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และช่วยให้ผู้คนมองโลกตามความเป็นจริง มองเห็นความสวยงามจากสิ่งที่เป็น

ไม่เพียงแค่วิถีการใช้ชีวิตเท่านั้น วะบิ ซะบิ ยังสามารถนำมาใช้ร่วมกับงานออกแบบบ้าน การตกแต่งภายใน ช่วยให้บ้านมีบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น และเปี่ยมล้นไปด้วยความมีชีวิตชีวา เนื้อหานี้ นำตัวอย่างบ้านที่ออกแบบด้วยแนวคิด วะบิ ซะบิ พร้อมกับนำ 10 แนวทางในการนำปรัชญา วะบิ ซะบิ มาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบมาฝากกันครับ

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
ออกแบบ : Punplan

บ้านหลังนี้เป็นบ้านของ คุณเปา พัลลภ สุวรรณอำไพ เจ้าของบ้านได้เล่าข้อมูลให้กับสถาปนิกปันแปลนว่า “พื้นที่แห่งนี้เดิมทีเป็นบ้านเก่าที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เยาว์วัย แต่ด้วยหน้าที่การงานของคุณพ่อ คุณแม่เปลี่ยนไป ทำให้จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ใหม่ บ้านหลังเดิมจึงถูกทิ้งไว้เป็นเพียงโกดังเก็บของ ผ่านวันเวลานับสิบปี ปัจจุบันคุณเปาเรียนจบและทำงานแล้ว จึงมีความคิดที่จะหวนกลับมาอยู่บ้านหลังเดิม แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพบ้านที่เก่าทรุดโทรมไปมาก การรีโนเวทอาจไม่คุ้มค่าและไม่ตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งาน การสร้างใหม่จึงคุ้มค่ากว่า แต่ก็อยากเก็บวัสดุบางส่วน โดยเฉพาะงานไม้มาใช้ร่วมกับบ้านหลังใหม่ด้วย”

เจ้าของบ้านยังได้ให้โจทย์มาว่า อยากได้บ้านฟังก์ชันไทยที่มีกลิ่นอายญี่ปุ่น การออกแบบจะต้องรองรับกับสภาพอากาศของไทยที่มีแดดร้อนจัดและฝนตกชุกเกือบทั้งปี สถาปนิกปันแปลนจึงนำเสนอด้วยหลังคาทรงจั่ว ซึ่งเป็นรูปแบบหลังคาที่มีโถงหลังคาสูงใหญ่กว่าหลังคาลักษณะอื่น ๆ ตัวโถงจึงทำหน้าที่เป็นฉนวนอากาศ ยิ่งโถงมีพื้นที่มากจะยิ่งป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้มากขึ้น ทั้งด้วยลักษณะองศาความชันของหลังคาแล้ว ยังช่วยระบายน้ำฝนได้ดี 

วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

ออกแบบ : Punplan

วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

ออกแบบ : Punplan

วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

ออกแบบ : Punplan

ด้านสไตล์บ้าน เมื่อผนวกรวมกับโจทย์งานที่ต้องนำไม้เก่ามาใช้ด้วย ทำให้ผู้ออกแบบนึกถึงแนวคิด “วะบิ ซะบิ” ปรัชญาเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่นที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหลักความงามในมุมมองของปรัชญา วะบิ ซะบิ เป็นความงดงามจากความไม่สมบูรณ์แบบ อย่างผิวของงานไม้เก่า เป็นปกติที่จะมีรองรอยบิด แหว่งหรือเป็นรูบ้าง แต่จุดนี้เองกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม้ใหม่ทำไม่ได้ เป็นเสมือน ร่องรอยของกาลเวลา ที่ชวนให้เจ้าของบ้าน ได้ระลึกถึงบรรยากาศบ้านเก่าในวัยเยาว์อยู่เสมอ

10 แนวทาง นำปรัชญา วะบิ ซะบิ ประยุกต์ใช้กับงานออกแบบบ้าน

  • เน้นวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ดิน ไม้ อิฐ โลหะ หรือมีความเป็นสัจจะวัสดุ 
  • เลือกใช้โทนสีที่ขุ่น ขรึมโทนมืด มีความดิบด้าน ไม่วิบวับหรือดูหรูหรา
  • ผิวสัมผัสที่หยาบ ขรุขระ มีริ้วรอยของกาลเวลา เช่น รอยบิ่นของไม้ รอยกะเทาะของอิฐ ผิวแตกลายงา หรือเหล็กที่เป็นสนิม
  • ภายในบ้านรับแสงสว่างจากธรรมชาติ รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงภายนอก
  • มีความสงบเงียบ เรียบง่าย ถ่อมตัว ไม่ดูโอ้อวด
  • ออกแบบให้อยู่ร่วม หรือดูกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติ 
  • มีความยืดหยุ่น ไม่เคร่งครัดต่อความสมบูรณ์แบบ 
  • เคารพสถานที่ เข้ากับบริบททางสังคมแวดล้อมรอบด้าน ไม่โดดเด่นเกินงาม
  • ใช้พื้นที่อย่างพอเหมาะ พอดี พอเพียงกับการใช้งาน ไม่ใหญ่หรือดูโอ่อ่าเกินไป
  • รอบบ้านมีสวน มีต้นไม้ กรณีไม้ดอกให้ปลูกไม้หอม เพื่อเป็นสัญญาณของฤดูกาล

การนำปรัชญา วะบิ ซะบิ มาประยุกต์ใช้ในบ้านหลังนี้ เริ่มจากการวางผังอาคารให้แยกส่วนกันระหว่างโรงจอดรถยนต์และตัวบ้าน เพื่อต้องการลดทอนขนาดของบ้านไม่ให้ดูใหญ่โตเกินไป ระหว่างโรงจอดรถยนต์กับตัวบ้าน เว้นระยะห่างทำเป็นทางเชื่อมเพื่อปรับอารมณ์ให้ผู้อยู่อาศัยได้เดินผ่านสวน ปรับอารมณ์ให้สงบก่อนเข้าบ้าน

หลังคาบ้านเลือกหันหน้าจั่วไว้ด้านข้าง เพื่อให้หลังคาลาดเอียงมาทางด้านหน้า ช่วยให้รูปฟอร์มบ้านดูถ่อมตน เสมือนกำลังโค้งตัวต้อนรับผู้มาเยือน โดยเลือกใช้แผ่นหลังคาเมทัลชีท Colorbond® สี Earth Brown เป็นเฉดสีโทนเข้มที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย เข้ากับธรรมชาติแบบ Zen Style ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว ยังคำนึงถึงความคงทนและการใช้งานในระยะยาวด้วย โดยไม่ต้องซ่อมแซมหรือปรับปรุงบ่อยๆ 

ส่วนตัวบ้านเลือกโทนสีขาวควันบุหรี่ เป็นลักษณะสีที่มีความตุ่น ๆ ไม่ขาวเจิดจ้ามากเกินไป ซึ่งจะช่วยให้บ้านดูสงบ พร้อมกับตกแต่งด้วยงานไม้กรุผนัง สามารถนำเศษไม้จากบ้านเก่ามาประยุกต์ใช้งานได้ ด้านหน้าบ้านออกแบบเฉลียงพักผ่อนให้พื้นเฉลียงมีระดับความสูงพอเหมาะกับการย่อตัวนั่งลงพื้น ห้อยขาได้ เฉลียงยังทำทำหน้าที่กันแดด กันฝน ให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ทุกเวลา 

เสาของหลังคาเฉลียง เลือกใช้เสาไม้จากบ้านเก่า ซึ่งจะมีรอยบิ่น รอยตำหนิ เป็นร่องรอยแห่งกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตามไม้เก่ากับงานโครงสร้างอาจมีความเสี่ยงในการรับน้ำหนัก วิศวกรปันแปลนจึงเลือกที่จะให้เสาไม้เป็นงานตกแต่งเท่านั้น ส่วนรับน้ำหนักที่แท้จริงเป็นส่วนผนังบ้าน พร้อมกับเลือกใช้หลังคาเมทัลชีทรุ่นเดียวกับหลังคาหลักของบ้าน ซึ่งจะมีคุณสมบัติเด่นด้านน้ำหนักเบา ช่วยลดภาระของงานโครงสร้างได้ดีครับ

 

อีกหนึ่งฟังก์ชันที่ขาดไม่ได้สำหรับบ้านญี่ปุ่นคือห้องเก็นคัง โถงทางเข้าบ้านต่างระดับ สามารถจัดเก็บรองเท้าได้อย่างเป็นระเบียบ ทั้งยังมีพื้นที่จัดเก็บของใช้ต่าง ๆ เช่น ร่ม หมวด เสื้อโค้ท เพื่อแยกสัดส่วนการใช้งาน ผู้อยู่อาศัยไม่ต้องเดินผ่านห้องนั่งเล่นทุกครั้งที่เข้าบ้าน

วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

ออกแบบ : Punplan

ส่วนห้องนั่งเล่น เลือกจัดผังแบบ Open Plan เพื่อให้ห้องดูโปร่งกว้าง ให้พื้นที่การใช้งานมีความยืดหยุ่น โต๊ะทานอาหารอาจไม่ได้ทำหน้าที่เพียงนั่งทานอาหารเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับใช้เป็นโต๊ะทำงานหรือกิจกรรมใด ๆ ช่วยให้ประหยัดพื้นที่และเกิดประโยชน์การใช้งานอย่างคุ้มค่า

วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

ออกแบบ : Punplan

วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น
วะบิซะบิ บ้านแนวญี่ปุ่น

ออกแบบ : Punplan

การนำปรัชญาชีวิต วะบิ ซะบิ มาใช้ในงานออกแบบ ไม่เพียงแค่สร้างความอบอุ่นสวยงามให้กับบ้านเท่านั้น แต่ด้วยหลักการของวะบิ ซะบิ ยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลผ่อนคลาย ยิ่งหากนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิถีชีวิตปัจจุบันแล้วด้วย ผู้อ่านอาจจะได้ค้นพบว่า ความสุขของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่มีอยู่แล้วภายในตัวเรา