มาตรฐาน HACCP มีความสำคัญกับธุรกิจเหล็กอย่างไร
อุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนา และเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอุตสาหกรรมอาหารนั้นมีทั้งบริโภคเองภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ ดังนั้นความสะอาด และความปลอดภัยของอาหาร และเครื่องดื่มจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกมาจำหน่ายเท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตไปจนถึงการเก็บรักษา รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องในระหว่างกระบวนการผลิต ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าสู่อุตสาหรรมอาหารควรที่จะมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหารเข้ามาควบคุม โดยมาตรฐานที่ทางเราจะนำเสนอในวันนี้ คือ การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม หรือ Hazard Analysis and Critical Control Point (HACCP)
HACCP International เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในกลุ่มวิทยาศาสตร์การอาหาร และให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร ผ่านโปรแกรมการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาสำหรับผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกตรวจสอบความเหมาะสมในการใช้งานกับอาหารโดยตรง และสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยพิจารณาจากความสะอาด หรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับมาตรฐานของฟู้ดเกรด (Food grade) รวมไปถึงความทนทานของผลิตภัณฑ์ภายใต้สภาวะการใช้งานที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ความสะดวกในการทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ก็จะได้รับการประเมินเช่นเดียวกัน โดยคำนึงถึงวิธีการทำความสะอาด และสุขอนามัยที่จำเป็นในระหว่างการใช้งานผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น ความทนทานต่อการกัดกร่อน สารเคมีทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ, ความทนทานต่อรอบการทำความสะอาดซ้ำๆ, การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลดีต่อการทำความสะอาด อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังต้องผ่านการประเมินในแง่ของความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน 3 ข้อ ได้แก่
- ความเสี่ยงทางกายภาพ
- ความเสี่ยงทางสารเคมี
- ความเสี่ยงทางชีวภาพ
เนื่องจากการปนเปื้อนของอาหารไม่ได้มาจากส่วนผสม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรรูป ต่างล้วนมีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความปลอดภัยเท่ากับส่วนผสมของอาหาร โดย HACCP ได้มีการแบ่งกลุ่มประเภทการใช้งาน (Food zone) ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- Food Zone Primary (FZP) สำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีอาหาร และเหมาะสำหรับการสัมผัสกับอาหาร เช่น ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง, สายพานลำเลียง, เขียง, ถ้วยเสิร์ฟ, อุปกรณ์ทำน้ำแข็ง, ภาชนะเก็บอาหาร
- Food Zone Secondary (FZS) สำหรับการสัมผัสพื้นผิวที่สัมผัสกับอาหาร แต่ไม่ควรสัมผัสอาหารระหว่างสภาวะการใช้งานปกติ เช่น ผ้าทำความสะอาด, น้ำยาฆ่าเชื้อพื้นผิว, น้ำยาล้างจาน
- Splash หรือ Spill Zone (SSZ) สำหรับใช้ในพื้นที่จัดการอาหาร เช่น ห้องครัว พื้นที่ผลิต และพื้นที่แปรรูป แต่ไม่เหมาะสำหรับการสัมผัสกับอาหาร หรือสิ่งของที่จะสัมผัสอาหารโดยตรง เช่น ผนังห้องครัว, ผนังห้องส่วนผลิตและแปรรูปอาหาร, แผงเครื่องมือวัด, สารเคมีสำหรับทำความสะอาดหน้าต่าง, ตู้ดูดควัน, อุปกรณ์ทำความสะอาดพื้น, วัสดุปูพื้น
- Non Food Zone (NFZ) สำหรับใช้ในพื้นที่จัดเก็บอาหาร แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีการจัดการอาหารแบบเปิด (ไม่ได้บรรจุหีบห่อ) เช่น อุปกรณ์สุขอนามัยมือ, ประตูระบายความร้อนสำหรับห้องเย็นแบบวอล์กอินในร้านค้าปลีก, ชั้นวางสำหรับโกดัง
บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัย และอันตรายในอุตสาหกรรมอาหารที่อาจส่งผลต่อผู้บริโภค จึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ SuperDyma® CRP และ SuperDyma® CRP Antibacterial ที่มีคุณสมบัติฟู้ดเกรด (Food grade) และได้รับการรับรองจาก HACCP International ประเภท Splash หรือ Spill Zone (SSZ) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบอาคารและโครงสร้าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่จัดการอาหาร เช่น ห้องครัว พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่แปรรูปอาหาร รวมไปถึงพื้นที่จัดเก็บอาหาร อย่างเช่น ห้องเย็น แต่ไม่เหมาะสำหรับการสัมผัสกับอาหาร หรือสิ่งของที่จะต้องมีการสัมผัสอาหาร
อ้างอิง